วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2559

ภาษาสำคัญอย่างไร


การสื่อสารจำเป็นต้องอาศัยสัญลักษณ์หรือภาษาเพื่อสื่อความคิด  ความเข้าใจ  ความรู้สึกซึ่งกันและกัน  การสื่อสารจำเป็นต้องอาศัยทั้งสัญลักษณ์และภาษาเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ตรงกัน

ภาพ : http://www.cosmopolitan.co.uk/body/health/news/a33035/time-to-talk-5-february/

ภาษาในความหมายอย่างกว้าง หมายถึง กริยาอาการที่แสดงออกมาแล้วสามารถทำความเข้าใจกันได้ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสัตว์ หรือสัตว์กับสัตว์ ส่วนภาษาในความหมายอย่างแคบนั้น หมายถึง เสียงพูดที่มนุษย์ใช้สื่อสารกันเท่านั้น

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. 2542 ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า ภาษา ไว้ว่า "ถ้อยคำที่ใช้พูดหรือเขียนเพื่อสื่อความของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น ภาษาไทย ภาษาจีน หรือเพื่อสื่อความเฉพาะวงการ เช่น ภาษาราชการ ภาษากฎหมาย ภาษาธรรม เสียง ตัวหนังสือ หรือกิริยา  อาการที่สื่อความได้ เช่น ภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษาท่าทาง ภาษามือ"

ลักษณะสำคัญของภาษา


ไม่ว่าภาษาใดในโลกย่อมมีลักษณะสำคัญที่มุ่งสื่อสารให้เข้าใจหรือสื่อความรู้  ความคิด  ความรู้สึก  โดยมีนักวิชาการด้านภาษาได้แบ่งลักษณะสำคัญทางภาษาไว้อย่างน่าสนใจ  เช่น  นิสา   ศักดิ์เดชยนต์ยุพา  ส่งศิริและใจเอื้อ   บูรณะสมบัติ (2526 : 3), ประยุทธ   กุยสาคร.  2527 : 8-13)  วิไลวรรณ    ขนิษฐานันท์ (ม.ป.ป. : 1-4)จรัลวิไล  จรูญโรจน์ (2549 :15-22)  เป็นต้น  สรุปได้ดังต่อไปนี้
1.  ภาษาเป็นเสียงที่มีความหมาย  หมายถึงคำที่เป็นเสียงพูดเท่านั้น  ภาษาเขียนเป็นเพียงตัวแทนของภาษาพูด  เสียงที่มีความหมายในภาษาหนึ่งอาจเป็นเสียงที่ไม่มีความหมายในภาษาอื่นก็ได้
2. ภาษามีระบบกฎเกณฑ์ที่แน่นอน  คือ  มีการวางโครงสร้างระบบลำดับของเสียงพูด  คำ   ประโยค  โดยมักแบ่งออกเป็น  2  ประการ  คือ  โครงสร้างทางไวยากรณ์และโครงสร้างทางเสียง
3. มีลักษณะที่อธิบายเหตุผลไม่ได้  คือ ไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้ว่าทำไมคำที่มีความหมายเดียวกันแต่เขียนและออกเสียงต่างกันทั้งที่มีความหมายตรงกัน
4. ภาษามีลักษณะเป็นสังคม  กล่าวคือภาษามีผู้ใช้อยู่ในวัฒนธรรมกลุ่มเดียวกัน  แต่การออกเสียงหรือสำเนียงอาจแตกต่างกันบ้าง  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสรีระอวัยวะออกเสียงของแต่ละบุคคล
5.  ภาษามีลักษณะสร้างสรรค์  คือ  ภาษาสามารถสื่อความเป็นประโยคได้อย่างไม่รู้จบทั้งที่พยัญชนะ  สระ  วรรณยุกต์มีจำนวนจำกัด
6.  ภาษาเป็นวัฒนธรรม  กล่าวคือ ภาษามีลักษณะสำคัญเหมือนวัฒนธรรม  เพราะภาษาเป็นมรดกทางสังคม  มีการถ่ายทอด  มีการพัฒนา  มีการเปลี่ยนแปลง  ปรับปรุงแก้ไขตามกาลสมัย
7.  ภาษามีระดับ  ภาษาย่อมมีระดับในการใช้เพื่อให้เหมาะสมกับกาลเทศะและถูกต้องตามบริบทที่เผชิญอยู่  โดยมากแบ่งออกเป็น 3  กลุ่ม  คือ  ภาษาปาก  ภาษากึ่งแบบแผน  และภาษาแบบแผน(ภาษาราชการ)
8.  ภาษาเป็นเรื่องของการใช้สัญลักษณ์ร่วมกัน  กล่าวคือภาษาเป็นเรื่องของหมู่ชนที่ต้องทำความเข้าใจหรือวางสัญลักษณ์ที่เข้าใจร่วมกัน
9.  ภาษาย่อมเกิดจากการเรียนรู้  กล่าวคือ  มนุษย์จะเรียนรู้ภาษาได้ต้องอาศัยการได้ยินได้ฟังคนอื่นพูดมาก่อนแล้วค่อยเลียนแบบอย่างตาม  การเรียนรู้ภาษาของมนุษย์อยู่ในทุกช่วงวัย  นับตั้งแต่วัยเด็ก  วัยรุ่น  วัยกลางคน  วัยชรา  มนุษย์ย่อมมีการเรียนรู้ภาษาอยู่เสมอ  การเรียนรู้ภาษานั้นต้องอาศัยการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางสังคมไม่ใช้สัญชาตญาณ  กล่าวคือ  หากเด็กที่มีพ่อแม่เป็นคนจีนมาอยู่ในสังคมไทยย่อมพูดภาษาไทยได้แต่ไม่สามารถพูดภาษาจีนอันเป็นภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ตนเองได้  แต่เด็กคนนี้ย่อมมีสัญชาตญาณในการเรียนรู้ภาษาจีนได้ดีกว่าคนไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์จีน
10.  ภาษาเป็นเครื่องมือสื่อสาร ภาษาเป็นเครื่องมือที่สื่อความรู้  ความคิด  ความรู้สึกของผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร  โดยกระบวนการสื่อสารนั้นต้องอาศัยภาษาเป็นเครื่องมือที่เข้าใจร่วมกัน  นั่นคือภาษานั่นเอง
11.   แต่ละภาษาย่อมมีความแตกต่างกัน  ทั้งนี้เพราะภาษาแต่ละภาษานั้นมีโครงสร้างทั้งทางเสียงและทางไวยากรณ์ที่แตกต่างกันย่อมนำมาซึ่งความหมายที่แตกต่างกันด้วย  หรือแม้แต่ในภาษาเดียวกันแต่มีโครงสร้างที่แตกต่างกันย่อมมีลักษณะความหมายที่แตกต่างกันไปด้วย
12.  ภาษาย่อมไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัว  กล่าวคือ  แม้ว่าภาษาจะมีระบบโครงสร้างที่ชัดเจน  แต่ความจริงแล้วโครงสร้างเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่สามารถกำหนดได้อย่างตายตัว  ทั้งนี้เพราะต้องอาศัยบริบทต่าง ๆ ช่วยเหลือให้ภาษาเหล่านั้นมีความหมายหรือเสียงต่างจากเก่าได้
13.  ภาษาทุกภาษาย่อมมีค่าแห่งความเป็นภาษาเท่าเทียมกัน  กล่าวคือ  ภาษาย่อมมีคุณค่าความสำคัญเท่ากัน  ไม่ว่าจะเป็นภาษาไหนก็ตามทีทั้งนี้เพราะภาษาทุกภาษาย่อมกฎเกณฑ์และมาตรฐานที่ต่างกันแต่มีศักดิ์ในการสื่อสารเท่าเทียมกัน
14.  ภาษาเป็นวิทยาศาสตร์  กล่าวคือ  ภาษาเป็นการออกเสียงโดยการกักเสียงหรือระเบิดเสียงตามหลักทางวิทยาศาสตร์สามารถฝึกหัดและเรียนรู้ได้  ศาสตร์ในการเรียนรู้ภาษาโดยอาศัยวิทยาศาสตร์ตั้งเรียนรู้ตั้งแต่ระบบสมองสั่งการ  ระบบของอวัยวะออกเสียง  ระบบเสียง  เรียกศาสตร์แขนงนี้ว่าภาษาศาสตร์
15. ภาษาย่อมมีการเปลี่ยนแปร  เนื่องจากภาษาเป็นการวางเงื่อนไขของสังคมแต่ละสังคม  ดังนั้นเมื่อมีผลกระทบอันเกิดจากภาษาย่อมมีการแปรเปลี่ยนภาษาได้ตามเหตุการณ์นั้น ๆ ทางสังคมอย่างแน่นอน
16.  ภาษาย่อมมีความหมาย  ความหมายเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของภาษา  ทุกภาษาย่อมต้องมีความหมายอยู่ด้วยเสมอซึ่งมีอยู่  3  อย่างคือ
1)ความหมายที่แทนรูปธรรม เช่น  คน  ต้นไม้  สัตว์  เป็นต้น
2)ความหมายที่แทนนามธรรม  เช่น  หนาว  ร้อน  ชอบ  สวย สบาย  ดี  ชั่ว  เป็นต้น
3)ความหมายของคำที่มีบริบทหรือตำแหน่งเป็นตัวบังคับ  เช่น  ไก่ขันตอนเช้า /ขัน/ หมายถึง กิริยาอาการส่งเสียงของไก่  เขาใช้ขันตักน้ำ  /ขัน/  หมายถึง ภาชนะที่ใช้ตักน้ำ  เป็นต้น

ภาพ : https://starodubtsevss.wordpress.com/tag/talk/

แหล่งที่มา :





เรียบเรียงโดย : นายศรนารายณ์ บุญขวัญ รหัสนักศึกษา 56103304157 สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น